แผนการศึกษาแห่งชาติ

แผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง (พ.ศ. 2552-2559) 


บทนำ 

       ตามที่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการในสมัยนั้นคือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ได้มอบนโยบายให้สภาการศึกษาได้ไปดำเนินการปรับทิศทางของแผนการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งฉบับปัจจุบันในสมัยนั้นได้ใช้มาตั้งแต่ปี 2545-2559 รวมทั้งสิ้น 15 ปีในตอนนั้น มาถึงเวลานั้นถือว่าเป็นเวลาครึ่งหนึ่งของแผน เพราะฉะนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปรุง เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550, พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2545, แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่10 (พ.ศ.2550-2554) นอกจากนั้นเพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษารอบสอง รวมทั้งนโยบายรัฐบาลด้วย ดังนั้นจึงนำมาซึ่งต้องมีการปรับแผนการศึกษาแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม ปรัชญาหลักๆ ของแผนการศึกษาแห่งชาติยังคงเดิม เช่น ยังคงยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง หรือกรอบของการบูรณาการร่วมกันในเรื่องของการศึกษา ศิลปวัฒนธรรม และเรื่องอื่นๆโดยเพิ่มเติมในส่วนของ 6 ประเด็นที่แตกต่างแผนเดิม ได้แก่
   
      1. เรื่องการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ซึ่งจะมุ่งเน้นการพัฒนาคนให้เป็นคนดี คนเก่ง มีความสุขและมีความภูมิใจในความเป็นไทย มีความศรัทธาเชื่อมั่นในระบอบประชา ธิปไตย รังเกียจการทุจริต ซื้อสิทธิขายเสียง
      2.เน้นการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพทางการศึกษา
      3.เน้นการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อมให้สังคมไทยเป็นสังคมคุณธรรมจริยธรรม ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
      4.เน้นพัฒนาผลิตกำลังคนให้สอด คล้องกับความต้องการในภาคอุตสาหกรรม การบริการ เศรษฐกิจและสังคมต่างๆ โดยจะมีการกำหนดกรอบมาตรฐาน คุณวุฒิวิชาชีพให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
      5. เน้นการมีส่วนร่วมของภาครัฐเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
      6. มุ่งเน้นเตรียมความพร้อมของประเทศไทยไปสู่ความพร้อมในการสร้างประชาคมอาเซียน
  ...................................................................................................................................................................

สาระสำคัญของแผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง (พ.ศ. 2552 — 2559)

      คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง (พ.ศ. 2552 — 2559) ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการศึกษาในช่วงระยะเวลาดังกล่าวต่อไป ทั้งนี้ ให้กระทรวงศึกษาธิการรับความเห็นและข้อสังเกตของ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงแรงงาน และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปประกอบการพิจารณาดำเนินสาระสำคัญของแผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง (พ.ศ. 2552 — 2559) ปัจจุบันแม้สถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ แต่เนื่องจากแผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับเดิม (พ.ศ. 2545 — 2559) นั้น เป็นแผนระยะยาวที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 จึงเห็นควรให้คงปรัชญาหลัก เจตนารมณ์ และวัตถุประสงค์ของแผนฉบับเดิมไว้ แล้วปรับปรุงในส่วนของนโยบายเป้าหมาย และกรอบการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
  ...................................................................................................................................................................


ปรัชญาหลักและกรอบแนวคิด 

     การจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับปรับปรุงฯ ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ยึดทางสายกลางอยู่บนพื้นฐานของความสมดุลพอดี รู้จักพอประมาณ อย่างมีเหตุผล มีความรอบรู้เท่าทันโลก เพื่อมุ่งให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและความอยู่ดีมีสุขของคนไทย เกิดการบูรณาการแบบองค์รวมที่ยึดคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาอย่างมีดุลยภาพ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง สิ่งแวดล้อม เป็นแผนที่บูรณาการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และกีฬากับการศึกษาทุกระดับ รวมทั้งเชื่อมโยงการพัฒนาการศึกษากับการพัฒนาด้านต่าง ๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นต้น โดยคำนึงถึงการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
  ...................................................................................................................................................................

เจตนารมณ์ของแผน
   
      แผนการศึกษาแห่งชาติมีเจตนารมณ์เพื่อมุ่งพัฒนาชีวิตให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้และคุณธรรม มีจริยธรรม และวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข และพัฒนาสังคมไทยให้เป็นสังคมที่มีความเข้มแข็งและมีดุลยภาพใน 3 ด้าน คือ เป็นสังคมคุณภาพ สังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ และสังคมสมานฉันท์และเอื้ออาทรต่อกัน
  ...................................................................................................................................................................

วัตถุประสงค์ของแผน

      เพื่อให้บรรลุตามปรัชญาหลักและเจตนารมณ์ของแผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับปรับปรุงฯ จึงกำหนดวัตถุประสงค์ของแผนที่สำคัญ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อพัฒนาคนอย่างรอบด้านและสมดุลเพื่อเป็นฐานหลักของการพัฒนา ๒) เพื่อสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมคุณธรรม ภูมิปัญญาและการเรียนรู้ ๓) เพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมของสังคมเพื่อเป็นฐานในการพัฒนาคน และสร้างสังคมคุณธรรม ภูมิปัญญา และการเรียนรู้ 

...................................................................................................................................................................

วัตถุประสงค์ แนวนโยบาย เป้าหมาย และกรอบการดำเนินงาน 

         เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ทั้งสามประการดังกล่าว ประกอบกับการคำนึงถึงทิศทางการพัฒนาประเทศในอนาคตที่เน้นการใช้ความรู้เป็นฐานของการพัฒนา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ประชากร สิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงได้กำหนดแนวนโยบายในแต่ละวัตถุประสงค์ ดังนี้

         วัตถุประสงค์ ๑ พัฒนาคนอย่างรอบด้าน และสมดุล เพื่อเป็นฐานหลักของการพัฒนา 

แนวนโยบาย
         - พัฒนาคุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ในทุกระดับและประเภทการศึกษา
         - ปลูกฝังและเสริมสร้างให้ผู้เรียนมีศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม ค่านิยม มีจิตสำนึกและมีความภูมิใจในความเป็นไทย มีระเบียบวินัย มีจิตสาธารณะ คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม และยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และรังเกียจการทุจริต ต่อต้านการซื้อสิทธิ์ขายเสียง
        - เพิ่มโอกาสทางการศึกษาให้ประชาชนทุกคนตั้งแต่แรกเกิดจนตลอดชีวิตได้มีโอกาสเข้าถึงบริการการศึกษาและการเรียนรู้ โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ หรือทุพพลภาพ ยากจน อยู่ในท้องถิ่นห่างไกล ทุรกันดาร
         - ผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ และเสริมสร้างศักยภาพการแข่งขัน และร่วมมือกับนานาประเทศ
         - พัฒนามาตรฐานและระบบการประกันคุณภาพการศึกษา ทั้งระบบประกันคุณภาพภายในและระบบการประกันคุณภาพภายนอก
         - ผลิตและพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพและมาตรฐาน มีคุณธรรม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

         วัตถุประสงค์ ๒ สร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมคุณธรรม ภูมิปัญญาและการเรียนรู้ 

แนวนโยบาย
         - ส่งเสริมการจัดการศึกษา อบรม และเรียนรู้ของสถาบันศาสนา และสถาบันทางสังคม ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย
         - ส่งเสริมสนับสนุนเครือข่ายภูมิปัญญา และการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม พลศึกษา กีฬาเป็นวิถีชีวิตอย่างมีคุณภาพและตลอดชีวิต
         - ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างองค์ความรู้ นวัตกรรม และทรัพย์สินทางปัญญา พัฒนาระบบบริหารจัดการความรู้ และสร้างกลไกการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์

        วัตถุประสงค์ ๓ พัฒนาสภาพแวดล้อมของสังคม เพื่อเป็นฐานในการพัฒนาคน และสร้างสังคมคุณธรรม ภูมิปัญญาและการเรียนรู้

แนวนโยบาย
         - พัฒนาและนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อการพัฒนาคุณภาพ เพิ่มโอกาสทางการศึกษา และการเรียนรู้ตลอดชีวิต
         - เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ โดยเร่งรัดกระจายอำนาจการบริหารและจัดการศึกษาไปสู่สถานศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
         - ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน ประชาชน ประชาสังคม และทุกภาคส่วนของสังคมในการบริหารจัดการศึกษา และสนับสนุนส่งเสริมการศึกษา
         - ระดมทรัพยากรจากแหล่งต่างๆ และการลงทุนเพื่อการศึกษา ตลอดจนบริหารจัดการ และใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
         - ส่งเสริมความร่วมมือระหว่าประเทศด้านการศึกษา พัฒนาความเป็นสากลของการศึกษา เพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ขณะเดียวกันสามารถอยู่ร่วมกันกับพลโลกอย่างสันติสุข มีการพึ่งพาอาศัยและเกื้อกูลกัน 

...................................................................................................................................................................

การบริหารแผนสู่การปฏิบัติ 

         แผนการศึกษาแห่งชาติฉบับนี้ให้ความสำคัญกับการนำแผนสู่การปฏิบัติ เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนข้อเสนอปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง ที่เน้นเป้าหมาย ๓ ด้าน คือ การพัฒนาคุณภาพการศึกษา การขยายโอกาสทางการศึกษา และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบริการและจัดการศึกษา ตลอดจนคำนึงถึงความสอดคล้องกับระยะเวลาของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จึงเห็นควรกำหนดระยะเวลาดำเนินงานบริหารแผนสู่การปฏิบัติเป็น ๒ ระยะ ดังนี้

          - ระยะที่ 1 แผนงานรีบด่วน ระหว่างปี 2552–2559 ให้เร่งดำเนินการตามข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง โดยให้มีการจัดทำแผนเพื่อพัฒนาการศึกษาตามประเด็นเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษา ได้แก่ แผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา แผนขยายโอกาสทางการศึกษา และแผนส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการบริหารและจัดการศึกษา รวมทั้งควรมีการสร้างกลไกเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนการศึกษาแห่งชาติ

         - ระยะที่ 2 ระหว่างปี 2552–2559 ให้เร่งดำเนินการตามนโยบายทั้ง ๑๔ ด้านให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และติดตามประเมินผลการดำเนินงานตามแผนฯ เมื่อสิ้นสุดระยะที่ 1 และระยะที่ 2 รวมทั้งการเตรียมการร่างแผนการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่ต่อไป นอกจากนี้ ให้มีการจัดทำกรอบทิศทางการพัฒนาการศึกษาในช่วงระยะเวลา 5 ปี เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนาการศึกษาในภาพรวม และแผนพัฒนาการศึกษาแต่ละระดับ/ประเภทการศึกษา ที่สอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้แก่ แผนพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน แผนพัฒนาการอาชีวศึกษา แผนพัฒนาการอุดมศึกษา เป็นต้น

         ส่วนในระดับจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ให้มีการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด และในระดับเขตพื้นที่การศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา ให้มีการจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาเขตพื้นที่การศึกษา แผนพัฒนาการศึกษาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถานศึกษา

...................................................................................................................................................................

แผนการศึกษาแห่งชาติ ฉบับปรับปรุง (พ.ศ. 2552-2559)ที่blogเขียนขึ้นมานี้เป็นเพียงส่วนสำคัญบางส่วนเท่านั้น ถ้าผู้ใดสนแผนทั้งหมดคลิกโหลดได้เลยครับ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น